วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการเพื่อการศึกษา


โครงการแกล้งดิน

โครงการแกล้งดิน
                 แกล้งดิน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
                 ดินเปรี้ยวจัด เป็นดินที่มีดินเลนตะกอนทะเลอยู่ชั้นล่าง มีสารประกอบกำมะถันที่เรียกว่า สารไพไรท์ (FeS2) อยู่ปริมาณสูง เมื่อดินอยู่ในสภาพน้ำแช่ขังจะคงรูปดินมีสภาพเป็นกลางแต่เมื่อน้ำแห้งอากาศแทรกซึมลงไปในดินออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับสารไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน (H2SO4) และสารประกอบจากโรไซท์ (KFe3 (SO4) 2 (OH) 6) มีสีเหลืองซีดคล้ายสีของฟางข้าว ดินแปรสภาพเป็นกรดจัด เมื่อดินเปียกอีก กรดกำมะถันจะถูกพากระจายไปทั่วหน้าตัดดิน การที่ดินแห้งและเปียกสลับกัน สารไพไรท์จะเกิดปฏิกิริยาปลดปล่อยกรดกำมะถันขึ้นมาอีก และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ เรื่องโครงการแกล้งดินตั้งแต่ ปี 2517 โดยให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ทำการศึกษาทดลองวิจัยในพื้นที่ 6 ไร่ ทำขั้นตอนการแกล้งดินให้เปรี้ยวจัด ซึ่งดินเปรี้ยวจัดหากทำให้แห้งและเปียกสลับกันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีเลียนแบบสภาพธรรมชาติที่มีฤดูแล้งและฤดูฝนในแต่ละปี แต่ใช้วิธีการร่นระยะเวลาช่วงแล้งและช่วงฝนในรอบปีให้สั้นลง ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปี
แกล้งดิน เป็นการเร่งทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด จนปลูกพืชเศรษฐกิจไม่ขึ้น จากนั้นหาวิธีการทำให้ดินเปรี้ยวสามารถปลูกพืชได้  โดยมีวิธีการทดลอง แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
              1.ขั้นตอนการแกล้งดินให้เปรี้ยวจัด
              2.ขั้นตอนการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน
              3.ขั้นตอนการศึกษาวิธีการปรับปรุงดิน เมื่อได้ข้อสรุปแนวทางและวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชแล้ว การทดลองยังดำเนินต่อไปเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของดินและผลผลิตพืช
ผลสรุปจากการทดลอง การแกล้งดิน เป็นการเร่งทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุดจนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ จากนั้นหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดรุนแรงที่สุด ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ คือ
              1.การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกข้าว
              2.การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก
              3.การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล
             4.จากการทดลองปรับปรุงดินแล้วไม่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องดินจะเปรี้ยวจัดรุนแรงอีก
             5.ดินเปรี้ยวจัดในสภาพที่ไม่ถูกรบกวน
ซึ่งต่อมา ได้มีการนำผลสำเร็จจากโครงการแกล้งดินขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง อาทิ หมู่บ้านรอบๆ ศูนย์  11 หมู่บ้าน ศูนย์สาขาทั้ง 4 แห่ง โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนราธิวาส เช่น บ้านโคกอิฐ-โคกใน บ้านยูโย บ้านโคกกระท่อม บ้านโคกงู บ้านโคกชุมบก บ้านปลักปลา บ้านบาวง โครงการฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรในเขตลุ่มน้ำบางนรา และโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปัตตานี
ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้แนะนำให้เกษตรกรรู้จักวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน การส่งเสริมและการสาธิตกิจกรรมการเกษตรด้านต่างๆ โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว จนกระทั่งราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำการเกษตร สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้มากขึ้นซึ่งมีหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการเกษตรหลังจากได้รับการฟื้นฟูสภาพดิน
                สำหรับพื้นที่พรุแฆแฆนั้นปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมต่างได้ใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรหลายรายการด้วยกัน นับตั้งแต่การปลูกข้าว การปลูกผัก ไปจนถึงการปลูกพืชยืนต้น ซึ่งจากการสังเกตพบว่า ต้นพืชเหล่านั้นมีการเจริญเติบโตดี นับเป็นโอกาสที่ดีของประชาชนในพื้นที่ที่สามารถนำผืนแผ่นดินมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แทบจะหมดสิ้นแล้วซึ่งโอกาสอันนี้













http://www.ryt9.com/s/bmnd/703066

โครงการเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง
        เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
            เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
                   ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

        โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้
๒. เงื่อนไขคุณธรรม